เทคโนโลยี่ » F-35 ดีแค่ไหน? ทำไมใครๆถึงอยากได้..

F-35 ดีแค่ไหน? ทำไมใครๆถึงอยากได้..

17 สิงหาคม 2022
1045   0

https://www.youtube.com/watch?v=Qt-QYXhtre8 △F-35B Lightning เป็นเครื่องที่มีรูปแบบ พร้อมด้วยพัดลมยกแนวดิ่ง หรือแนวตั้งและหัวฉีดเครื่องยนต์ช่วยให้สามารถยกตัวขึ้นลงแนวดิ่ง และความสามารถใช้บินระยะสั้นในการเดินทางไปยัง ที่หมายแบบ เร่งด่วน F-35 จะแทนที่ AV-8B Harrier II ในกองร้อยนาวิกโยธิน

เครื่องบินรบเอฟ-35 (F-35) ของบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ของสหรัฐฯ เป็นเครื่องบินรบรุ่นที่ 5 (Fifth Generation) เป็นเครื่องบินรบที่กองทัพอากาศไทยอยากได้มากที่สุดในตอนนี้..

เครื่องบิน “ล่องหน” รุ่นนี้ เริ่มประจำการบินมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ส่งมอบไปแล้วราว 750 ลำ แต่ประสบเหตุตกไปแล้วอย่างน้อย 6 ลำ

หลังการประลองกำลังระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลว่ากองทัพอากาศไทยควรซื้อเครื่องบินรบในขณะที่ประเทศเผชิญภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองหรือไม่ ในที่สุด คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปรจำปี 2566 ชุดใหญ่อนุมัติให้จัดซื้อเครื่องบินโจมตีเอฟ-35 เอ จำนวน 2 ลำ ตามที่กองทัพอากาศอุทธรณ์มาของบประมาณ 369.1 ล้านบาท จาก 738.2 ล้านบาท หลังจากมีการเข้าชี้แจงงบประมาณเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา

เครื่องบินขับไล่เอฟ-35 เป็นหนึ่งในเครื่องบินรบที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก และนับจนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ตัดสินใจขายเอฟ-35 ให้กับกองทัพของประเทศที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดเท่านั้น

ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มีเพียงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่ได้ครอบครองเอฟ-35

แต่การจะได้มาซึ่งเครื่องบินที่ขุมกำลังล้ำสมัยรุ่นนี้ รัฐสภาสหรัฐฯ ต้องอนุมัติให้ทางการไทยซื้อเสียก่อน ซึ่ง พล.อ.อ.นภาเดช  ธูปะเตมีย์  ผบ.ทอ. ระบุว่า หากในที่สุด แล้วรัฐสภาของสหรัฐฯ ไม่ขายเครื่องบินขับไล่รุ่นเอฟ-35 ให้ไทย กองทัพอากาศพร้อมจะคืนงบประมาณ

“พูดง่าย ๆ เราไม่สามารถเดินตัวเปล่าเข้าไปซื้อได้ และกองทัพอากาศเคยจัดซื้อในรูปแบบดังกล่าวมาแล้ว คือเครื่องบินเอฟ-16 ซึ่งอยู่ยงคงกระพันใช้งานมาเกือบ 40 ปี และเป็นเครื่องบินรบหลักของกองทัพอากาศ ดังนั้น หากเครื่องบินเอฟ-35 เอ ผ่านการอนุมัติ เราใช้งานไปอีก 35-40 ปีเช่นเดียวกัน”

ทำความรู้จักเอฟ-35

เครื่องบินขับไล่เอฟ-35 เป็นเครื่องบินรบที่ผลิตโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทด้านอากาศยาน เทคโนโลยีอวกาศ และยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศระดับโลกสัญชาติอเมริกัน เริ่มขึ้นบินครั้งแรกในปี 2549 ปัจจุบันมี 3 รุ่น ได้แก่ เอฟ-35 เอ, เอฟ-35 บี และ เอฟ-35 ซี

เอฟ-35 เอ – ออกแบบเพื่อใช้งานบินขึ้นลงปกติบนรันเวย์สนามบิน

เอฟ-35 บี – ออกแบบเพื่อใช้งานบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งบนเรือบรรทุกเครื่องบิน หรือภารกิจอื่น ๆ ที่ไม่มีรันเวย์สำหรับเครื่องบิน

เอฟ-35 ซี – ออกแบบเพื่อใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินโดยเฉพาะ มีปีกใหญ่กว่ารุ่นอื่น ๆ

เครื่องบินรบเอฟ-35 ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินล่องหน เนื่องจากคุณสมบัติสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ จึงสามารถเจาะลึกเข้าไปในน่านฟ้าของศัตรูโดยไม่ปรากฏบนจอเรดาร์ โดยเครื่องบินเอฟ-35 เอ รุ่นที่กองทัพอากาศไทยต้องการ มีคุณลักษณะเด่น ตามข้อมูลของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ดังนี้

แรงขับเคลื่อนขั้นสูง – 43,000 ปอนด์ ทำความเร็วได้สูงสุด 1.6 มัค หรือ 1,931 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีเพดานบินได้สูงสุด 50,000 ฟุต

ระบบเซนเซอร์ขั้นสูง – รวบรวมและแสดงข้อมูลได้มากกว่าเครื่องบินรบลำใด ๆ ในประวัติศาสตร์ ทำให้นักบินได้เปรียบเชิงข้อมูล เพื่อตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในปฏิบัติการสู้รบ โดยแสดงผลผ่านหน้าต่างช่องมองของหมวกนิรภัย

ระบบศูนย์เล็งยิงติดหมวก – ระบุเป้าหมายและยิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสามารถในการล่องหน – หลีกเลี่ยงการตรวจจับด้วยเรดาห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากข้อมูลของเว็บไซต์  TAF หรือ Thaiarmedforce.com ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดของโครงการ F-35 ทั่วโลกในเดือน ม.ค.2565 ระบุว่าจนถึงปัจจุบัน ล็อกฮีด มาร์ติน ได้ส่งมอบเอฟ-35 ทั้งสามรุ่นไปแล้วมากกว่า 750 ลำ

ประเทศที่นำเอฟ-35 ไปใช้ปฏิบัติภารกิจอยู่ มี 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ  อังกฤษ อิตาลี ออสเตรเลีย นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

แต่เครื่องบินรบรุ่นที่ถือว่าดีที่สุดในโลกตอนนี้ ก็มีรายงานข่าวประสบอุบัติเหตุมากเช่นกัน นับแต่เริ่มประจำการบินในปี 2549

อุบัติเหตุเครื่องบินเอฟ-35 ตก

ก.ย. 2561 – เครื่องบินรบ เอฟ-35 บี ประสบเหตุตกใกล้ฐานทัพเรือในรัฐเซาท์ แคโรไลนา แต่นักบินดีดตัวออกมาได้อย่างปลอดภัย จากการตรวจสอบพบว่า เป็นผลจากข้อบกพร่องในถังเชื้อเพลิง โดยถือเป็นการตกครั้งแรกของเครื่องรุ่น F-35

เม.ย. 2562 – เครื่องบินเอฟ-35 ของกองทัพญี่ปุ่น ประสบเหตุตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยความเร็ว 1,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้นักบินเสียชีวิต ถือเป็นการตกครั้งที่ 2 ของเครื่องบินรุ่นนี้

พ.ค. 2563 – เครื่องบินเอฟ-35 เอ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประสบเหตุตกที่ฐานทัพในรัฐฟลอริดา แต่นักบินดีดตัวออกมาได้อย่างปลอดภัย

ก.ย. 2563 – เครื่องบินเอฟ-35 เอ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประสบเหตุตกระหว่างลงจอด นักบินดีดตัวออกมาได้อย่างปลอดภัย จากการตรวจสอบพบว่ามาจากสภาพร่างกายของนักบิน และข้อบกพร่องบางจุดในตัวเครื่องบิน

พ.ย. 2564 – เครื่องบินเอฟ-35 ของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร ประสบเหตุตกทะเล หลังปฏิบัติภารกิจจากเรือบรรทุกเครื่องบินเอชเอ็มเอส ควีน เอลิซาเบธ

ม.ค. 2565 – เครื่องบินรบเอฟ-35 เอ ของกองทัพอากาศเกาหลีใต้ ประสบเหตุต้องลงจอดฉุกเฉิน แต่อุปกรณ์ลงจอดไม่ทำงาน และต้องลงจอดแบบท้องเครื่องบินไถลไปกับพื้น จากการตรวจสอบพบว่า เกิดจากนกบินเข้าไปในเครื่องยนต์ แต่ไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่อุปกรณ์ล้อลงจอดไม่กาง

ม.ค. 2065 – เครื่องบินเอฟ-35 ซี ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ประสบเหตุตกลงทะเลจีนใต้ หลังอุบัติเหตุการลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส คาร์ล วินสัน โดยใช้เวลานานราว 3 เดือน กว่าจะเก็บกู้เครื่องบินขึ้นมาจากทะเลได้

ที่มา : บีบีซีไทยตรวจสอบรายงานข่าว เทียบเคียงจากสำนักข่าว Reuters AFP และ CNN

ความฝันของทัพฟ้าไทย

โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่รุ่น F-35 เป็นเรื่องที่ พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ทอ.) ของไทย พูดในหลายครั้งหลายหน

เมื่อ 31 ธ.ค. ปีที่แล้ว พล.อ.อ. นภาเดช ให้ข่าวว่าไทยควรรีบซื้อในขณะนี้ ในช่วงที่ราคาเครื่องบินลดลงจากเดิมที่ 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อลำ ลงมาเหลือ 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อลำ ซึ่งเป็นการซื้อเข้ามาประจำการทดแทนเครื่องบินขับไล่รุ่นเก่าของกองทัพ คือ F-5 และ F-16

แม้กระทั่งเมื่อครั้งที่เครื่องบินรบเมียนมาล้ำแดนเข้าเขตไทยที่ อ.พบพระ จ.ตาก ผบ.ทอ. ยังให้สัมภาษณ์ที่ จ. เชียงรายเมื่อ 1 ก.ค. ด้วยว่า โครงการจัดหาเครื่องบินเอฟเอฟ-35 เป็นโครงการที่จะทำให้เกิดความทันสมัยขึ้นใน “ทุกองคาพยพของกองทัพอากาศ”

พร้อมร่ายคุณสมบัติของเครื่องบินยุค 5 (เอฟ-35) ว่าแตกต่างจากเครื่องบินยุค 4 (อาทิ เอฟ-16) ทั้ง การล่องหนหายตัวผ่านระบบเรดาร์ที่มองไม่เห็น บินด้วยท่วงท่าพิสดารมากขึ้น มีเซ็นเซอร์รอบตัว บินระยะไกลด้วยความเร็วเสียงได้นานกว่าเครื่องบินยุค 4 ที่กินน้ำมันกว่า และมีความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลในอนาคตที่เหนือกว่า

“ถ้าเราคิดจะมีของดี ผมไม่อยากให้คนไทยเราขัดขากันเอง เพราะเราจะพลาด สู้เราช่วยกันสนับสนุนได้มาดีกว่า แม้จะพลาด ก็ขอให้เป็นขั้นตอนที่เขาไม่ขายให้เรา ไม่ใช่เราขัดขา โยกเยกกันเอง จนเราพลาดตั้งแต่ยกแรก ไม่ใช่ยกสุดท้าย” ผบ. ทอ. กล่าว

ชี้แจงต่อกรรมาธิการงบประมาณ

แรกเริ่มเดิมที่ ทอ. มีแผนจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ระยะที่ 1 จำนวน 4 ลำ ใช้เงินงบประมาณกว่า 7,382.6 ล้านบาท

แต่ในการชี้แจงกับคณะกรรมาธิการฯ เมื่อ 18 ก.ค. ทอ. ชี้แจงว่า กรณีโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ระยะที่ 1 จำนวน 4 ลำ เป็นความคลาดเคลื่อนทางเอกสาร โดย ทอ. ตั้งใจว่าจะตั้งงบประมาณเพื่อจัดหา 2 ลำ จากเดิม 4 ลำ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศช่วงนี้

ผบ. ทบ. ชี้แจงด้วยว่า การจัดหาเครื่องบินเอฟ-35 เป็นก้าวสำคัญของประเทศเพื่อบ่งบอกถึงความทันสมัยของกองทัพอากาศ และการจัดหาเครื่องบินดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรส จึงดำเนินการจัดซื้อได้ ปัจจุบันยังมิได้รับการพิจารณาจากสภาคองเกรส ซึ่งการได้รับอนุญาตเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งในการจัดซื้อ

ทอ. ได้ให้เหตุผล 2 ข้อว่า เพื่อทดแทนของเดิมที่มีอายุการใช้งานมานาน อะไหล่ในการซ่อมบำรุงหายากและมีราคาสูง และเพื่อยกระดับกองทัพให้มีความทันสมัยทั้งหมด และเป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องบินรบยุคที่ 5

ถ้าหากประเทศไทยได้เครื่องบินเอฟ-35 การดูแลรักษาเทียบกับค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมานาน การดูแลรักษาเครื่องบินใหม่จะทำให้ประหยัดงบประมาณ ดังนั้น การที่ได้รับงบประมาณอันจำกัดหน่วยงานต้องใช้งบประมาณให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการ ได้มีข้อสังเกตว่า การจัดหาเครื่องบินโจมตีทางยุทธศาสตร์เอฟ-35 ที่ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากสภาคองเกรสก่อน ดังนั้น กองทัพอากาศ ควรให้สภาคองเกรสพิจารณาและอนุมัติในการจัดหาเครื่องบินเอฟ-35 เป็นที่เรียบร้อยก่อน จึงดำเนินการตั้งค่าของบประมาณในปีถัดไป

ฉากทัศน์ต่อจากนี้

“ให้ไป 300 กว่าล้าน ไม่ได้แปลว่าต้องจ่าย” สมชัย ศรีสุทธิยากร กมธ.งบประมาณ ปี 2566 อธิบายในรายการ “เจาะลึกทั่วไป อินไซต์ไทยแลนด์” ถึงงบประมาณ 369.1 ล้านบาท ที่อนุมัติให้กองทัพอากาศ เพื่อไปมัดจำเครื่องบินรบเอฟ-35 เอ พร้อมชี้ถึงฉากทัศน์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

1. สภาคองเกรสไม่อนุมัติขายเครื่องบินให้ไทย หมายความว่าไทยไม่เสียเงิน 369.1 ล้านบาท และเงินที่ผูกพันต่อจากนี้ 4 ปี ทั้ง 7,382.6 ล้านบาท จะต้องยกเลิกทั้งหมด

2. ค่าเงินบาทแปรปรวนจนถึงจุดที่ทำให้ราคาเครื่องบินแพงเกินไป ไทยจะยกเลิกการสั่งซื้อ และให้กองทัพอากาศคืนเงินมัดจำกลับมา ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงรายการสั่งซื้อในงบประมาณเป็นพาหนะ หรืออากาศยานรุ่นอื่น

นายสมชัยยังเปิดเผยถึงแผนเต็มของกองทัพอากาศในการจัดซื้อเครื่องบินรบเอฟ-35 ด้วยเหตุผลถึง “สมรรถนะทางการรบ” และ “ทำงานประสานกันเป็นทีม” กองทัพอากาศต้องมี 1 ฝูง หรือทั้งสิ้น 12 ลำ

“แต่การที่จะซื้ออีก 10 ลำ เป็นเรื่องที่ไม่ได้ผูกพันกับรัฐสภาและกรรมาธิการใด ๆ ทั้งสิ้น…เพราะต้องขอ (งบประมาณ) มาเป็นครั้ง ๆ”

ขอบคุณhttps://www.bbc.com/thai/articles/ce49y3x4q3do https://www.google.com/..1%E0%B8%A3%E0%B8%B4… https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B9%8..

เครื่องบินStealthล่องหนของอเมริกา อาจหมดพิษสง ด้วยควอนตัมเรดาร์ของจีน